วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมืองหนองหานน้อย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

จังหวัดอุดรธานี
เมืองหนองหานน้อย

สถานที่ตั้ง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
ประวัติความเป็นมา
.......................ตามตำนานอุรังคธาตุเล่าว่า พระเจ้ากรุงอินทรปัตถ์ แคว้นกัมพูชา ให้ขุนขอมราชนัดดาไปตั้งเมืองหนองหานหลวง ที่ท่าอาบนาง มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ทิศตะวันออกจดแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ทิศตะวันตกจดเทือกเขาเพชรบูรณ์ ต่อแคว้นทวาราวดี ทิศใต้จดแคว้นสาเกต ทิศเหนือจดหลวงพระบาง และแคว้นหริภุญไชย
ขุนขอมมีโอรสชื่อสุรอุทกกุมาร เป็นผู้มีกฤษฎาภินิหาริย์ มีพระขรรค์มาด้วยแต่กำเนิด เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก เมื่อขุนขอมสิ้นพระชนม์ไป สุรอุทกกุมารได้ครองหนองหานหลวงสืบต่อมา สุรอุทกกุมารได้ไปตรวจอาณาเขต หนองหานหลวงจนถึงปากน้ำมูล ได้พบว่าบิดาได้มอบบริเวณนี้ให้ธนมูลนาคดูแลรักษา สุรอุทกกุมารไม่พอใจ จึงท้ารบกับธนมูลนาค แต่ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ธนมูลนาคผูกใจเจ็บสุรอุทกกุมารมาก จึงแปลงกายเป็นเก้งเผือก (ฟานด่อน) ไปที่เมืองหนองหานหลวง สุรอุทกกุมารเห็นเก้งเผือกก็อยากได้จึงให้เสนาอามาตย์ไล่ล่า และยิงเก้งเผือกด้วยธนูอาบยาพิษตาย ธนมูลนาคก็บันดาลให้เนื้อเก้งเผือกมีมากมายกินเท่าใดไม่หมด ผู้คนเมือง
หนองหานหลวงก็ได้กินเก้งเผือกเกือบทุกคน ตกกลางคืนธนมูลนาคถล่มเมืองหนองหานหลวงจมบาดาลและฆ่าสุรอุทกกุมาร โอรสทั้งสองของสุรอุทกกุมาร คือ ภิงคกุมาร และคำแดง ได้พาไพร่พลหนีไปอยู่ดอนโพนเมือง หาชัยภูมิ สร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ภิงคกุมารได้เห็นชัยภูมิที่ภูน้ำลอด (บริเวณพระธาตุเชิงชุมริมฝั่งหนองหานสกลนคร)
ดีเหมาะจะสร้างเมือง ทั้งสุวรรณนาคผู้เฝ้ารักษาพระพุทธบาทที่ภูน้ำลอดนำน้ำเต้าทองคำใส่น้ำหอมมาถวาย รดสรงให้ภิงคกุมารเป็นพญานั่งเมือง ภิงคกุมารจึงได้นามใหม่ว่า สุวรรณภิงคะ ครองเมืองหนองหานหลวงแต่นั้นมา
..........................ส่วนพระยาคำแดงผู้น้อง เหล่าเสนาอำมาตย์เมืองหนองหานน้อย ได้มาอัญเชิญให้ไปเป็นพญานั่งเมืองหนองหานน้อย เรียกว่า พญาหนองหานคำแดง
เมื่อพระมหากัสสปะ ไปสร้างพระธาตุพนมที่ภูกำพร้า พระยาทั้งสองได้บริจาคทรัพย์สินและไพร่พลช่วยพระมหากัสสปะสร้างพระธาตุพนมที่ภูกำพร้า บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าจนสำเร็จ
.........................ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพงศาวดารลาว (ฉบับมหาสีลา วรวงศ์) เล่าว่า พระเจ้าฟ้างุ้มแห่งศรีสัตตนาคนหุตล้านช้าง ได้ส่งครัวล้านช้าง ๑๐,๐๐๐ ครอบครัวมาไว้ที่เมืองหนองหานน้อย เมืองหนองหานหลวง เมืองสาเกต เมืองหนองหานตกอยู่ในอาณาจักรล้านช้าง มาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช
พระองค์ได้ทูลขอพระเทพกษัตรีย์ พระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นเอกอัครมเหสี พระองค์ท่านได้เสด็จ มารอรับสมเด็จพระเทพกษัตรีย์ที่หนองหานน้อย และได้ฉลองพระธาตุที่เมืองหนองหานน้อย
..........................มาในสมัยกรุงธนบุรี เกิดกบฏเจ้าสิริบุญสารเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบกบถเจ้าสิริบุญสารที่เวียงจันทน์ กองทัพไทยไปตีจนถึงแคว้นเชียงขวางของพวน และสิบสองเจ้าไท ได้เวียงจันทน์ไว้ในอำนาจ พวกพวนได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านดงแพง และอพยพตามกันมาจนต้นรัตนโกสินทร์ และได้เปลี่ยนชื่อบ้านดงแพงเป็น "บ้านเชียง" นอกจากลาวพวนที่
อพยพเข้ามาอยู่หนองหานน้อยแล้ว ยังมีพวกลาวเวียงและไทยอีสานเข้ามาอยู่ เมืองหนองหานจึงเป็นชุมชนใหญ่มาแต่โบราณ
..........................ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แม่ทัพใหญ่หนใต้ในการปราบฮ่อ ได้ย้ายกองบัญชาการจากเมืองหนองคายมาอยู่ที่บ้านหมากแข้ง ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งของเมืองหนองหาน ต่อมาบ้าน หมากแข้งพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองอุดร และเมืองหนองหานลดลงเป็นอำเภอหนึ่งในอุดรธานี
ลักษณะทั่วไป
..........................ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ ๑,๒๕๐ x ๑,๐๕๐ เมตร มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ลักษณะเมืองเป็นรูปสม่ำเสมอ ตามแบบลพบุรี บริเวณรอบ ๆ เมืองมีที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ หลายสาย สลับกับที่เนินสูง ด้านทิศตะวันออกตัวเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีลำห้วยทรายไหลผ่าน ส่งเข้าไปเลี้ยงชาวเมือง
ด้านทิศตะวันตกเป็นหนองน้ำ ชื่อ หนองบ่อ และมีลำน้ำสายต่าง ๆ ไหลลงมา ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำ มีการขุดคลองตรงรับน้ำจากคูเมืองด้านทิศตะวันตก และยังมีลำห้วยแยกจากมุมคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รับน้ำจากคูเมืองไปออกด้านเหนือห้วยด่าน
..........................ปัจจุบันคูเมืองถูกทางหลวงแผ่นดินอุดรธานี-สกลนครตัดผ่าน และคูเมืองด้านทิศเหนือถูกบุกรุกทำที่อยู่อาศัย และคูเมืองด้านทิศใต้ยังเหลืออยู่บริเวณหลังโรงเรียนหนองหานวิทยา
หลักฐานที่พบ
..........................มีซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากมายในหนองหานน้อย พบเสมาหินทรายแดงที่วัดสามัคคีบำเพ็ญ พบซากสถูปที่ก่อด้วยอิฐ ๑ องค์ เดิมเป็นศิลปะลพบุรี ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นเจดีย์แบบลาวล้านช้าง ในสมัยหลัง พบพระพุทธรูปลพบุรีที่ถูกโบกปูนทับเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง แต่จากปูนกะเทาะทำให้เห็นองค์
ข้างในเป็นหินทรายชัดเจน พบซากโบราณสถานแบบลพบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอโรคยาศาลา ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน หน้าที่ทำการสถานีอนามัยอำเภอหนองหาน และพบเสมาหินทรายสมัยทวาราวดีที่วัดโพธิ์ศรี ในบ้านเชียงอีก ๑ หลักนอกจากซากเมืองแบบลพบุรี หนองหานน้อยยังเป็นเขตสะสมทางวัฒนธรรม ทั้งชุมชนศิลปกรรม
สถาปัตยกรรม ยังเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงมากมายหลายแห่ง เช่น ที่บ้านเชียง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม บ้านดุง บ้านสะแบง บ้านอ้อมแก้ว บ้านนาดี บ้านโนนขี้กลิ้ง ฯลฯ
เส้นทางเข้าสู่เมืองหนองหานน้อย
...........................เดินทางจากตัวเมืองอุดรธานี โดยทางหลวงแผ่นดินอุดรธานี-สกลนคร ระยะทางประมาณ ๓๕ กิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น