วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตำนานชื่อเมืองนครราชสีมา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ตำนานชื่อเมืองนครราชสีมา

เนื้อเรื่อง
.....................ตำนานชื่อเมืองนครราชสีมา กล่าวว่าที่นครอินทปัต พระโคตมมหาราช ผู้ครองนครได้สั่งให้ ขุนสิงหฬสาคร ไปค้าขายทางทะเล ขุนสิงหฬสาครได้นำพ่อค้าจำนวน ๕๐๐ คน พร้อมสินค้ามากมายลงเรือสำเภา เดินทางไปได้เจ็ดเดือนเรือก็หยุดนิ่งอยู่ ๑๕ วัน แต่แล้วก็เกิดลมพายุพัดเอาเรือสำเภานั้นออกมหาสมุทรไป พายุได้พัดเอาเรือสำเภานี้ไปถึงเมืองของ พระกาฬ ชื่อ เมืองกุเวร ซึ่งเป็นเมืองที่สวยงาม ปราสาทและกำแพงล้วนแล้วแต่เป็นเงินทองสุกเหลืองอร่าม พ่อค้าทั้งหลายก็ดีใจว่าเรารอดตายแล้ว จึงพากันขึ้นจากเรือไปซื้อหาอาหารกินแล้วกลับมาเรือ บอกแก่ ขุนสิงหฬสาครว่าได้พบผู้หญิงคนหนึ่ง หน้าตาเหมือนกับนายผู้หญิง ขุนสิงหฬดีใจรีบขึ้นจากเรือไปดูก็พบเมีย ของตนจริง ๆ ทั้งสองต่างดีใจร้องไห้รักกัน แล้วนางจึงบอกว่า นางได้ตายไปแล้ว เพราะตอนที่ท่านจากมานั้น นางท้องอ่อน ๆ อยู่ พอท้องได้แปดเดือนพระกาฬได้มาเอาชีวิต เป็นผีมาเฝ้าเมืองนี้ แล้วบอกความจริงว่า ท่าน และชาวพาณิชทั้งหลายจะตายภายใน ๗ วัน ขอให้รีบหนีไป แล้วนางก็บอกว่าก่อนนางสิ้นใจ ท่านได้ฝาก
ทรัพย์ คือ เงิน ๒๐ ชั่ง ทอง ๑ ชั่ง ข้าผู้ชาย ๙ คน ข้าผู้หญิง ๑๐ คน ไว้กับน้องสาว เมื่อกลับไปให้ถามเอากับ น้องสาว และขอให้ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลมาให้นางด้วย แล้วบอกวิธีที่จะรอดชีวิตว่า ให้ขุนสิงหฬสาคร
ทำข้าวตู ข้าวตากใส่ไถ้พันไว้กับตัวแล้วปีนขึ้นไปอยู่บนเสากระโดงเรือ เมื่อพายุพัดเสากระโดงไปฟัดกับกิ่งมะเดื่อ ให้เกาะกิ่งมะเดื่อไว้จึงจะรอดชีวิต ขุนสิงหฬสาครกลับมาที่เรือสำเภาแล้วออกเดินทางตามคำสั่งเมีย เลาะมาตามริมมหาสมุทร เมื่อเสากระโดงฟัดกับกิ่งมะเดื่อจึงปีนขึ้นไปอยู่บนกิ่งนั้น ส่วนเรือสำเภานั้นแล่นไป ได้ ๗ วัน ก็ตกลงท้องมหาสมุทร ลูกเรือและนายพาณิชทั้งหมดสิ้นชีวิต ขุนสิงหฬสาครอยู่บนกิ่งมะเดื่อต้นใหญ่ นั้นนานวัน กินแต่ลูกมะเดื่อ จึงปีนตามเครือเถาวัลย์ลงมา ๗ วันถึงโคนต้น เห็นราชสีห์ยืนอยู่ก็ตกใจกลัวมาก เอาลูกมะเดื่อขว้างไปยังราชสีห์ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง จึงรู้ว่าราชสีห์ตาย จึงลงมาผลักให้ล้มลง แล้วเอาดาบเถือ หนังราชสีห์แบกไต่ตามแนวป่าขึ้นมากินแต่ข้าวตู ถึง ๑๕ วัน ถึงเมืองด่าน ชาวด่านนำไปพบเจ้าเมือง ขุนสิงหฬสาครเล่าความแต่ต้น และได้หนังราชสีห์มาแต่ป่าหิมพานต์ เจ้าเมืองจึงเถือเอาหนังราชสีห์ไว้หน่อย หนึ่ง ขุนสิงหฬสาครเดินทางผ่านเมืองต่าง ๆ ทุกเมืองก็จะเถือแบ่งเอาหนังราชสีห์ไว้ เมื่อมาถึงเมืองอินทปัต หนังราชสีห์จึงเหลือเท่าพรมปูนั่งเท่านั้น ขุนสิงหฬสาครนำหนังราชสีห์ถวายพระเจ้าโคตมมหาราชแล้วเล่า
เหตุการณ์ พระเจ้าโคตมมหาราช ก็พระราชทานเงินทองมากมาย แล้วทูลลามาบ้านของตน สอบถามข้าไท และน้องสาวก็ได้ความจริงดังที่เมียสั่งไว้ทุกประการ ชื่อของเมืองนี้จึงได้นามตามที่ขุนสิงหฬสาครคอนหนังราชสีห์ มาเป็นคอนราชสีห์มา และนครราชสีมาตามลำดับ
คติ/แนวคิด
......................ตำนานเรื่องนี้ คือ ความพยายามที่จะอธิบายประวัติศาสตร์ชื่อบ้านนามเมืองอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น แทนตำนานท้องถิ่น ที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ตำนานชื่อเมืองนครราชสีมา อ้างถึงเรื่องในพงศาวดารเหนือว่า ขุนสิงหฬสาครซึ่งพระเจ้าโคตมกรุงอินทปัตสั่งให้ไปค้าขาย ได้หนังราชสีห์คอนบ่ามาทางนี้ เมืองนี้จึงชื่อว่า เมืองคอนราชสีห์มา แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัย ชื่อเมืองนครราชสีมาว่า ชื่อเมือง นครราชสีมาเกิดจากชื่อเมืองเก่าสองเมือง คือ เมืองโคราฆะกับเมืองเสมา ซึ่งเป็นเมืองเก่า ก่อนที่จะย้ายมา อยู่ที่เมืองนครราชสีมาปัจจุบัน เมื่อย้ายมาแล้ว จึงเอาชื่อของทั้งสองเมืองมาตั้งเป็นชื่อเมือง นอกจากเหตุผลที่ รองรับความเชื่อเรื่องชื่อเมืองนครราชสีมานั้นแล้ว ยังมีเหตุผลของการเรียกชื่อเมืองนครราชสีมาอีกชื่อหนึ่งคือ เมืองโคราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น